กิจกรรมโครงการ
กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร
กรอบการใช้ประโยชน์
กรอบการสร้างจิตสำนึก
กิจกรรมที่ 1 - กิจกรรมปกปักทรัพยากร
เป้าหมาย
- เพื่อปกปักรักษาพื้นที่ป่าธรรมชาติของหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีพื้นที่ป่าดั้งเดิมอยู่ในความรับผิดชอบ โดยไม่มีนโยบายจะเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ แต่จะต้องเป็นพื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช หรือจะต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหากับราษฎรโดยเด็ดขาด
- เพื่อร่วมมือกับกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยที่กรมฯ นำพื้นที่ของกรมฯ มาสนองพระราชดำริ ตามความเหมาะสม
กิจกรรมที่ 2 - กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร
เป้าหมาย
- เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมทรัพยากรในพื้นที่ ได้แก่ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในพื้นที่ที่ทราบแน่ชัดว่ากำลังจะเปลี่ยนแปลงสภาพเดิม ภายใต้รัศมีอย่างน้อย 50 กิโลเมตร ของหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริให้พิจารณาความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงานที่เป็นแกนกลางดำเนินงานในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ
- เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมทรัพยากรในพื้นที่ ได้แก่ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ภายใต้รัศมีอย่างน้อย 50 กิโลเมตร ของหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ อาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ได้ แต่เป็นคนละพื้นที่กับพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช/ทรัพยากรในกิจกรรมที่ 1
กิจกรรมที่ 3 - กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร
เป้าหมาย
- เพื่อนำทรัพยากรที่มีค่า ใกล้สูญพันธุ์ หรือต้องการเพิ่มปริมาณเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ จากพื้นที่ในกิจกรรมที่ 1 และกิจกรรมที่ 2 ทำการคัดเลือกมาเพื่อดำเนินงานเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง โดยการนำพันธุกรรมทรัพยากรชีวภาพต่างๆ ไปเพาะพันธุ์ ปลูก เลี้ยง และขยายพันธุ์เพิ่มในพื้นที่ที่ปลอดภัย เรียกว่า พื้นที่ปลูกรักษาทรัพยากร
- ส่งเสริมให้เพิ่มพื้นที่แหล่งรวบรวมพันธุ์ทรัยากรตามพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ (ex situ) ทั้งในแปลงเพาะขยายพันธุ์ ห้องปฏิบัติการฯ แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ เป็นลักษณะของสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ ป่าชุมชนที่ร่วมสนองพระราชดำริ และยังมีการเก็บรักษาในรูปเมล็ด เนื้อเยื่อ และสารพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการฯ ของหน่วยงาน รวมถึงการเก็บรักษาพันธุกรรมในธนาคารพืชพรรณ อพ.สธ. สวนจิตรลดา เก็บในรูปสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ และศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่
กิจกรรมที่ 4 - กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร
เป้าหมาย
- เพื่อศึกษาและประเมินศักยภาพพันธุกรรมพืช และทรัพยากรอื่นๆ ที่สำรวจเก็บรวบรวมและปลูกรักษาไว้จากกิจกรรมที่ 1-3
- เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทั้งสามฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา มีการวางแผนและดำเนินการวิจัยศักยภาพของทรัพยากรต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สายพันธุ์จุลินทรีย์ ตามแนวพระราชดำริ และมีแนวทางนำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
กิจกรรมที่ 5 - กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร
เป้าหมาย
- เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลทรัพยากรของประเทศ โดยศูนย์ข้อมูลทรัพยากร อพ.สธ. สวนจิตรลดา ร่วมกับหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ บันทึกข้อมูลของการสำรวจเก็บรวบรวม การศึกษาประเมิน การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ ทรัพยากรทั้งสามฐาน โดยทำการบันทึกลงในระบบฐานข้อมูล เพื่อเป็นฐานข้อมูลและมีระบบที่เชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วประเทศ
- เพื่อให้ฐานข้อมูลทรัพยากรนั้น เป็นข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช และทรัพยากรต่างๆ โดยที่ อพ.สธ. เป็นที่ปรึกษา
กิจกรรมที่ 6 - กิจกรรมวางแผนพัฒนาทรัพยากร
เป้าหมาย
- เป็นกิจกรรมที่นำฐานข้อมูลจากกิจกรรมที่ 5 มาใช้ในการพิจารณาศักยภาพของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พันธุ์จุลินทรีย์ ฯลฯ
กิจกรรมที่ 7 - กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร
เป้าหมาย
- เพื่อให้เยาวชน ประชาชนชาวไทย ให้เข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของทรัพยากรทั้งสามฐาน ให้รู้จักหวงแหน รู้จักการนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดการ การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างยั่งยืน
- เพื่อให้หน่วงงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ วางแผนและขยายผลเพื่อนำแนวทางการสร้างจิตสำนึกในการรักทรัพยากรของ อพ.สธ. ไปดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของหน่วยงานนั้นๆ
กิจกรรมที่ 8 - กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร
เป้าหมาย
- เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมสนับสนุนงานของ อพ.สธ. ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของทุนสนับสนุน หรือดำเนินงานที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของ อพ.สธ.โดยอยู่ในกรอบของแผนแม่บท อพ.สธ.
- เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนได้สมัครเข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในสาขาต่างๆ ตามความถนัดและสนใจ โดยมรคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาให้คำแนะนำ และให้แนวทางการศึกษา โดยจัดเป็นชมรมนักชีววิทยา อพ.สธ.
- เพื่อรวบรวมนักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นอาสาสมัครและเข้ามาทำงานตามแนวทางการดำเนินงานในกิจกรรมของ อพ.สธ. ทั้งส่วนตัวและผ่านหน่วยงานที่ตนเองสังกัดอยู่ โดยจัดตั้งเป็นชมรมคณะปฏิบัติงานวิทยากร อพ.สธ. ซึ่งจะเป็นผู้นำในการถ่ายทอดความรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศให้แก่เยาวชนและประชาชนชาวไทยต่อไป
- เพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง ให้ดำเนินงานสมัครสมาชิกเข้ามาในงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น