กิจกรรม

โครงการสำรวจพืชดอกในบริเวณพื้นที่ปกปักศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการ อพ.สธ.

30/09/2019

ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำรวจพื้นที่ป่าธรรมชาติดั้งเดิมภายในพื้นที่ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน และเสนอพื้นที่ จำนวนประมาณ 245 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ปกปักทรัพยากร อพ.สธ.-มช. ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าธรรมชาติดั้งเดิมที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณและสัตว์ป่า จึงมีความเหมาะสมที่จะกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปกปักทรัพยากรเพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษพันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีการศึกษาในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ (อพ.สธ.) แล้ว ยังเป็นการสำรวจพืชดอกในบริเวณพื้นที่ปกปักฯ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน เพื่อศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและระบุชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ และใช้เป็นฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ในพื้นที่ปกปักฯ อีกด้วย โดยเริ่มทำการสำรวจตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2561 ถึง กันยายน 2562 เก็บตัวอย่างพืชเพื่อนำมาศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา ตรวจสอบชนิดพืช เขียนคำบรรยายลักษณะพรรณไม้ และวาดภาพลายเส้น ผลการสำรวจพบตัวอย่างพืชที่สามารถระบุชื่อวิทยาศาสตร์ได้ 106 ชนิด จัดอยู่ใน 84 สกุล 33 วงศ์ โดยแบ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว 23 ชนิด พืชใบเลี้ยงคู่ 83 ชนิด พืชที่พบมากที่สุดจัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) 21 ชนิด รองลงมาเป็นพืชในวงศ์ทานตะวัน (Asteraceae) พบ 8 ชนิด และพืชในวงศ์ชบา (Malvaceae) พบ 7 ชนิดตามลำดับ พันธุ์พืชที่มีความน่าสนใจที่สำรวจพบในครั้งนี้ คือ พืชในกลุ่มกล้วยไม้ดิน (วงศ์ Orchidaceae) ได้แก่ ว่านจูงนาง (Geodorum densiflorum (Lam.) Schltr) กล้วยไม้ดิน (Geodorum recurvum (Roxb.) Alston) นางอั้วสีตอง (Habenaria chlorina Wall. E.C. Parish & Rchb.f.) นางอั้วคางยาว (Habenaria hosseusii Schltr.) และเอื้องมรกต (Liparis tschangii Schltr.) ซึ่งเป็นพืชที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำ แต่ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลอนุรักษ์หรือควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายแล้ว พืชกลุ่มนี้อาจลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนสูญพันธุ์ได้

พื้นที่เป้าหมาย

  1. พื้นที่ปกปักศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หริภุญไชย จังหวัดลำพูน
  2. ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย

  1. เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

  2. การศึกษาสำรวจพืชดอก ในบริเวณพื้นที่ปกปักศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หริภุญไชย จังหวัดลำพูน เพื่อสนองพระราชดำริ ในโครงการ อพ.สธ.

หัวหน้าโครงการ

ผศ.ดร.อังคณา อินตา คณะวิทยาศาสตร์

สถานะโครงการ

สิ้นสุดโครงการ