กิจกรรม

การเพาะปลูกพืชผักพืชบ้านในสกุล Elsholtzia

30/09/2018

การศึกษาการเพาะปลูกพืชผักพื้นบ้านในสกุล Elsholtzia ได้ดำเนินการทดลองกับผักพื้นบ้าน 3 ชนิด ได้แก่ ผักฮาน ผักอีหลืน และผักเลือน โดยแบ่งการดำเนินงานเป็นสองส่วน ได้แก่ การศึกษาการขยายพันธุ์และการปลูกเลี้ยง สำหรับการขยายพันธุ์ทดลองเรื่องการเก็บรักษาเมล็ด และการปักชาโดยใช้สารควบคุมการเจริญเติบโต การศึกษาเรื่องการปลูกเลี้ยงได้ทดลองเรื่องการให้ปุ๋ย การตัดแต่งกิ่งเพื่อกระตุ้นการเจริญทางกิ่งและใบ และการให้แสงในช่วงกลางคืน (night break) จากการศึกษาในปีแรก พบว่า การขยายพันธุ์ผักฮานและผักอีหลืนควรใช้วิธีการเพาะเมล็ด การเก็บเมล็ดผักฮานในร่มที่อุณหภูมิห้องยังทำให้เมล็ดงอกได้โดยมีเปอร์เซ็นต์การงอกและดัชนีการงอกสูงกว่าเมล็ดที่เก็บที่ 15 และ 5 องศาเซลเซียสเมื่อ 24 สัปดาห์หลังการเก็บรักษา ส่วนเมล็ดผัก อีหลืนที่เก็บรักษาไว้ที่ 5 และ 15 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิห้อง มีเปอร์เซ็นต์การงอกและดัชนีการงอกไม่ต่างกันเมื่อ 16 สัปดาห์หลังเก็บรักษา แต่เมล็ดที่ได้รับการเก็บรักษาที่ 15 องศาเซลเซียสมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงกว่าเมล็ดที่เก็บที่ 5 องศาเซลเซียส และที่อุณหภูมิห้อง ที่ 24 สัปดาห์ สำหรับผักเลือนเป็นผักที่ออกดอกน้อยและมักไม่ติดผลและเมล็ด การปักชาจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมสาหรับขยายพันธุ์ผักเลือน

กิ่งชาผักเลือนสามารถออกรากได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ผักฮานและผักอีหลืนสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้ส่วนยอดปักชาได้โดยไม่ต้องใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชเช่นกัน แต่การแช่กิ่งด้วยสารละลาย Napthaline Acetic Acid (NAA) 100 ppm หรือสารเร่งรากการค้าช่วยให้มีจำนวนรากต่อกิ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การปักชาผักฮานและผักอีหลืนในระยะที่เจริญเต็มที่และใกล้ออกดอกจะทำให้กิ่งชาไม่สามารถเติบโตได้นานเนื่องจากข้อจำกัดของการเข้าสู่วัยชราของวงจรชีวิต การปลูกเลี้ยงผักฮาน ผักอีหลืน และผักเลือนในส่วนของการให้ปุ๋ย ดำเนินการบนที่สูง ณ หน่วยวิจัยและพัฒนาเกษตรที่สูงหนองหอย และพื้นราบ ณ สถานีวิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะควบคู่กันไป การให้ปุ๋ยยูเรียช่วยส่งเสริมการเติบโตทางกิ่งและใบของพืชทดลอง โดยในภาพรวม ผักทั้ง 3 ชนิดที่ได้รับปุ๋ยยูเรียมีผลผลิตทั้งจำนวนยอดและน้ำหนักสดสูงกว่าต้นที่ไม่ได้รับปุ๋ย โดยการให้ปุ๋ยยูเรียเพียง 0.25 กรัมต่อต้น ทุก 2 สัปดาห์ สำหรับผักเลือน และ 1 กรัมต่อต้นสำหรับผักฮานและผักอีหลืนก็เพียงพอ (การให้ปุ๋ยสองครั้งแรกควรลดปุ๋ยลงครึ่งหนึ่งเพราะขนาดต้นยังเล็ก) ต้นผักฮานและผักอีหลืนที่ปลูกบนที่สูงมีการเจริญเติบโตดีกว่าต้นที่ปลูกที่ราบ ซึ่งอาจเป็นเพราะโดยธรรมชาติผักทั้งสองชนิดนี้พบบนที่สูง

ผักฮานและผักอีหลืนเป็นพืชที่ออกดอกแล้วตาย การตัดแต่งกิ่งผักฮานทั้งการตัดแต่งโดยตัดยอดที่มีดอกออก และการตัดแต่งอย่างหนักไม่สามารถทำให้ต้นผักฮานกลับไปเจริญทางกิ่งและใบได้ โดยยอดที่แตกออกมาใหม่ยังคงออกดอกและต้นตายเกือบทั้งหมดในเวลา 9 สัปดาห์หลังตัดแต่งกิ่ง การทดลองให้แสงในช่วงกลางคืน (night break) สามารถยับยั้งการออกดอกของผักฮานและ ผักอีหลืนได้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 เดือนที่ทำการทดลอง จึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการผลิตผักทั้งสองชนิดนี้เป็นการค้าได้

พื้นที่เป้าหมาย

ภาคเหนือของประเทศไทย

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย

  1. เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  2. เพื่อศึกษาวิธีการขยายพันธุ์พืชผักในสกุล Elsholtzia ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร
  3. เพื่อศึกษาวิธีการปลูกเลี้ยงดูแล ปัญหา และการให้ผลผลิตของพืชผักในสกุล Elsholtzia จำนวน 3 ชนิด

หัวหน้าโครงการ

ผศ.ดร.ศิวาพร ธรรมดี  คณะเกษตรศาสตร์

สถานะโครงการ

สิ้นสุดโครงการ