กิจกรรม

การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอางจากผักพื้นบ้าน

30/09/2018

การศึกษาในโครงการนี้มี 2 ส่วน คือ การศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันหอมระเหยจากพืชสกุล Elsholtzia และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดผักปู่ย่า

การศึกษาพืชสกุล Elsholtzia มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรสิเนส จากพืชสกุล Elsholtzia ที่มีการเพาะปลูกจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ผักอีหรืน ผักลุมปุม ผักเลือน และผักฮาน นำส่วนเหนือดินของพืชแต่ละชนิดมากลั่นน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ ค่าเฉลี่ยของร้อยละน้ำมันหอมระเหยที่ให้ค่าสูงสุดคือน้ำมันหอมระเหยของผักฮาน (3.73 % v/w) จากนั้นนำน้ำมันหอมระเหยมาศึกษาคุณภาพทางกายภาพเคมีได้แก่ ค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์ ค่าดัชนีหักเห ค่าการเบี่ยงเบนแสง ค่าความเข้ากันได้กับเอธานอล การหาปริมาณน้ำมันหอมระเหย และการหาปริมาณน้ำ โดยอ้างอิงวิธีการตาม International Standards Organization และ Thai Herbal Pharmacopoeia จากนั้นตรวจสอบชนิดองค์ประกอบเคมีด้วย GC-MS โดยแปลผลเทียบ library และหาค่า Kovat retention index (KI) เทียบสารอัลเคนมาตรฐาน (C8-C20) เพื่อเป็นการยืนยันชนิดของสาร พบว่ารูปแบบองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยทั้ง 4 ชนิดมีความคล้ายคลึงกัน โดยมีสารกลุ่มหลักเป็นกลุ่ม monoterpenes ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยวิธี DPPH และ ABTS พบว่าน้ำมันหอมระเหยของผักฮานให้ฤทธิ์ที่ดีที่สุด (IC50 = 6.94, 1.23 mg/ml ตามลำดับ) ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรสิเนส พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากผักอีหรืนให้ฤทธิ์ที่ดีที่สุด (IC50 = 3.24 mg/ml) จากผลการศึกษานี้ น้ำมันหอมระเหยของผักฮานและผักอีหรืนน่าสนใจที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบในตำรับเครื่องสำอางในการศึกษาต่อไป

การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากผักพื้นบ้านในปีนี้ คัดเลือกผักปู่ย่ามาเป็นวัตถุดิบในการพัฒนา ผักปู่ย่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caesalpinia mimosoides Lam. เป็นไม้พุ่ม มีหนามหนาแน่นในทุกส่วนของพืช พบมากในทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืองของประเทศไทย มีการศึกษาก่อนหน้าพบว่าสารสกัดผักปู่ย่ามีคุณสมบัติเป็น moderate antioxidant และมีปริมาณของ tannin และ phenolics สูง การศึกษานี้มีวัตุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดผักปู่ย่าที่ทำการสกัดแยก เพื่อให้ได้ส่วนสกัดที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่ดีที่สุด ในการสกัดผักปู่ย่าสกัดด้วยวิธีการสกัดต่อเนื่องด้วย soxhlet’s apparatus และใช้ตัวทำละลาย 95 % ethanol เป็นตัวทำละลาย และมีการสกัดแยกด้วยสารละลายที่มีความเป็นขั้วที่แตกต่างกันด้วย partition technique สารสกัดแต่ละส่วนนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันด้วยวิธี DPPH radical scavenging และ Lipid peroxidation inhibitory activity และทำการทดสอบหาปริมาณของสารประกอบฟีนอลิก และปริมาณของสารประกอบฟลาโวนอยด์ ผลการศึกษาพบว่าส่วนสกัด aqueous ethanol จะให้ปริมาณของสารประกอบฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ในปริมาณที่สูง และยังให้ฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชันที่ดีอีกด้วย ในการพัฒนาตำรับจึงได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดผักปู่ย่า 2 รูปแบบคือผลิตภัณฑ์ครีมและเจล โดยได้เลือกสารสำคัญในการออกฤทธิ์เป็น chlorophyll removal fraction ในความเข้มข้น 0.3 % เนื่องจากมีสีที่ไม่เข้มและยังคงให้ฤทธิ์ที่ดี โดยการพัฒนาตำรับได้ทำการเลือกต้ารับที่เหมาะสม และมีความคงตัวสูงเมื่อทำการทดสอบความคงสภาพแบบเร่ง

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย

  1. เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  2. เพื่อศึกษาถึงแนวทางในการนำน้ำมันหอมระเหยและส่วนสกัดที่ให้ฤทธิ์จากผักพื้นบ้านไทยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม
  3. เพื่อประเมินคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากผักพื้นบ้านไทย

หัวหน้าโครงการ

ผศ.ดร.ภญ.สุนีย์ จันทร์สกาว

สถานะโครงการ

สิ้นสุดโครงการ