พื้นที่ปกปักทรัพยากร
พื้นที่ปกปักทรัพยากร โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน
ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำรวจพื้นที่ป่าธรรมชาติดั้งเดิมภายในพื้นที่ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน และเสนอพื้นที่ จำนวนประมาณ 245 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ปกปักทรัพยากร อพ.สธ.-มช. ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าธรรมชาติดั้งเดิมที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณและสัตว์ป่า จุดสูงสุดมีความสูงประมาณ 480 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีร่องน้ำธรรมชาติไหลผ่านพื้นที่ก่อนไหลไปรวมกันที่อ่างเก็บน้ำของชุมชน และยังมีความเป็นป่าไม้ดั้งเดิม มีความสมบูรณ์ของพืชพรรณและธรรมชาติตามเกณฑ์ของพื้นที่ปกปักทรัพยากร อพ.สธ. จึงมีความเหมาะสมที่จะกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปกปักทรัพยากรเพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
พื้นที่ปกปักทรัพยากร อพ.สธ.-มช. ขนาด 245 ไร่ ระยะทางโดยรอบประมาณ 3,167 เมตร ลักษณะพื้นที่เป็นป่าเต็งรังผสมกับป่าเบญจพรรณ มีระยะทางห่างจากพื้นที่ส่วนหน้าของศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน ประมาณ 5 กิโลเมตร และมีระยะทางห่างจากศูนย์รวบรวมพันธุ์พืชพื้นบ้านและแปลงวนเกษตร ประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 10 นาที
วัตถุประสงค์
- เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในกิจกรรมที่ 1 กิจกรรมปกปักทรัพยากร
- เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าดั้งเดิมและส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบ และบุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรที่มีในพื้นที่
แผนที่ระดับ (Contour map) ในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชฯ
ในปีงบประมาณ 2562 ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำข้อเสนอโครงการ “โครงการจัดทำแผนที่ระดับ (Contour map) ในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชฯ ณ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เพื่อทำการสำรวจและเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ และนำมาจัดทำแผนที่ระดับ ซึ่งเป็นแผนที่ที่บอกรายละเอียดของพื้นที่ในรูปแบบสองมิติด้วยขนาดย่อส่วน โดยจะแสดงภาพของพื้นที่จากมุมสูง ตำแหน่งหมุดแนวเขต และระดับความชันของพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการระบุตำแหน่งต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นมากกว่า 20 เซนติเมตร ลงในแผนที่อีกด้วย
ผลการสำรวจพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ มีป่าไผ่กระจายอยู่ในบางจุด สภาพความชันเป็นภูเขาทั้งลูก มีพื้นที่ราบเชิงเขาเล็กน้อย เส้นความชันจุดที่ต่ำสุดอยู่ที่ 351 เมตร และจุดสูงสุดที่ 480 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แสดงถึงภูเขามีความสูงอยู่ที่ 129 เมตร พื้นที่รอบข้าง ทิศตะวันออก ทิศเหนือและทิศตะวันตก เป็นพื้นที่ติดกับผืนป่า ส่วนทิศใต้ติดกับที่ทำกินของคนในพื้นที่